“ไผ่” หนุ่มน้อยวัย 18 ปี เช้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลด้วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว (CML)
ไผ่กำลังเรียน ปวช. แต่ต้องหยุดเรียนเพราะมาเข้าคอร์สคีโม ไผ่มีนิสัยร่าเริง ช่างพูด
พักอยู่หอผู้ป่วยสามัญ จะมีญาติมาเยี่ยมเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์
เมื่อทีมผู้ดูแลรักษาไผ่ ทั้งหมอ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ ทราบอาการจากหมอว่า ไผ่ไม่ตอบสนองต่อยาและอยู่ในช่วงภาวะสุดท้ายของชีวิต ทีมงานจึงจัดประชุมกันเพื่อวางแผนบอกความจริงแก่ญาติและไผ่ มีหลายคนที่แสดงความเห็นว่า ไม่ควรจะบอกไผ่ เพราะไผ่อายุยังน้อย อาจทำใจยอมรับเรื่องความตายไม่ได้
แต่เนื่องจากมีผลสำรวจจากญาติและบุคลากรใน รพ.จุฬา เมื่อปี 2546 พบว่า 84% ของคนไข้ต้องการทราบว่าตัวเองอยู่ในระยะสุดท้าย โดยมีเงื่อนไขว่าญาติต้องรับรู้ร่วมกันด้วย
ทางนักสังคมสงเคราะห์จึงวางแผนหาข้อมูลเพื่อช่วยไผ่ และพบว่าตามปกติไผ่และน้องสาวอยู่กับปู่ย่าที่ต่างจังหวัดซึ่งแก่มากแล้ว พ่อกับแม่ทำงานอีกที่ ไผ่จึงไม่สนิทกับพ่อแม่ เมื่อไผ่ป่วยมานอน รพ. พ่อแม่มาเยี่ยมบ้างแต่ไม่บ่อยนัก บางครั้งพ่อแม่ก็ทำให้ไฝ่ผิดหวัง เพราะผิดนัดกับไผ่ ส่วนน้องสาวที่สนิทกันก็มาเยี่ยมบ่อยไม่ได้เพราะต้องเรียนหนังสือ และมีค่าใช้จ่ายเรื่องการเดินทางสูง จึงมักใช้โทรศัพท์พูดคุยกันแทน
ทีมอาสาสมัครได้หมั่นไปเยี่ยมเยียนไผ่ที่ตึก ไผ่ยังคงสดใสร่าเริง แม้จะเหนื่อยมากขึ้นตอนพูดนานๆ ทางทีมได้ถามความฝันและความหวังของไผ่และพบว่า
“ไผ่อยากให้พ่อแม่และน้อง มีโอกาสอยู่ร่วมกันและไปเที่ยวด้วยกันอีกครั้ง”
“ไผ่โตขึ้นอยากทำงานและเก็บเงินให้พ่อแม่เปิดร้านอาหาร”
“เวลาที่พ่อแม่ดุไผ่จะเถียง ไผ่อยากเชื่อฟังพ่อแม่มากกว่านี้”
“ไผ่อยากตั้งใจเรียนหนังสือ พ่อแม่จะได้ภูมิใจ”
ข้อมูลจากอาสาสมัครพบว่า หมอที่ตรวจครั้งแรกได้บอกผลกับพ่อไผ่ว่าาป่วยเป็นมะเร็ง แต่พ่อไม่ได้บอกไผ่ จนไผ่รู้ความจริงเอง
“เมื่อไผ่รู้ครั้งแรกก็ตกใจกลัว ไม่อยากคุยกับใคร กลัวตาย”
“ไผ่น้อยใจและโกรธพ่อที่ไม่ยอมบอก ผมได้แต่สงสัยและเดาไปต่างๆนานา”
“ร่างกายของเรา เรารู้ว่ามันไม่ปกติ พอถามก็ได้แต่บอกว่าไม่เป็นไร”
ครั้งต่อมานักสังคมสงเคราะห์ ถามเกี่ยวกับความคิดเรื่องชีวิตและความตาย ว่าอยากรู้ตัวก่อนหรือไม่ อยากให้บอกใคร ไผ่เงียบไปนานมาก จนพูดว่า
“ถ้าเป็นช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต ผมอยากให้หมอบอกผมก่อน เพราะถ้าพ่อรู้ก่อนคงไม่ยอมบอกผม เหมือตอนที่ผมสู้มะเร็ง ”
“ผมสู้มาเต็มที่แล้ว อะไรมันจะเกิดก็ต้องเกิด อย่าให้ทรมานเท่านั้นเอง”
“ผมอยากให้หมอบอกทันทีที่ผมรู้ ผมอยากทำอะไรหลายอย่างก่อนตาย”
“ผมอยากให้คุณหมอคนนี้เป็นคนบอก เพราะคุณหมอยิ้มเก่ง ท่าทางใจดี และผมจะได้กล้าถาม”
จากนั้นทางทีมจึงนัดคุณหมอคุยกับไผ่อีกรอบและได้รู้ว่า
“ผมอยากกลับบ้าน ไปอยู่กับปู่ย่า อยากฟังเพลง เล่มคอม กินอะไรก็ได้ที่อยากกิน”
“ตอนนี้ผมมีอาการเหนื่อย หมอช่วยผมได้ไหม”
เมื่อไผ่ทราบความจริงเกี่ยวกับตัวเอง ก็เป็นการง่ายที่ทีมงานจะค้นหาสิ่งที่ไผ่ติดค้างในใจ ทั้งความคิด ความกลัว ความหวัง และอื่นๆ
“ผมอยากบอกพ่อแม่ว่าผมรัก และผมอยากขอโทษที่ผมเกเร ผมไม่เคยพูด”
“แม่กับพ่อก็ไม่เคยบอกว่ารักผม”
“ผมไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร เพราะเวลาจะคุยมันเหมือนมีหมอกบางๆมากั้น”
ทีมงานจึงช่วยหาทางออกให้ไผ่ โดยการให้ไผ่เขียนไดอารี่บอกเล่าความในใจเวลาพ่อแม่มาเยี่ยม
และยังช่วยติดต่อญาติและแจ้งอาการ รวมถึงความต้องการของไผ่ต่างๆ ทางครอบครัวไม่เห็นด้วยที่จะให้ไผ่กลับบ้าน
“ผมจะดูแลเขาอย่างไร ผมต้องทำงานไกลและ ปู่ย่าก็แก่มากแล้ว ”
หมอและพยาบาลจึงให้ข้อมูลเบื้องต้น ในขณะเดียวกันก็แนะนำสิ่งที่ครอบครอบครัวสามารถทำให้ไผ่ได้ จนไผ่ได้กลับบ้าน และมีจดหมายส่งตัวไปยังโรงพยาบาลใกล้บ้าน หากไผ่ต้องเข้าโรงพยาบาลจริงๆ
ไผ่ยิ้มแย้มอย่างมีความสุขที่ได้กลับบ้านแม้จะเหนื่อยจนต้องนั่งรถเข็น
หลังจากนั้นสองสัปดาห์ พ่อได้โทรมาแจ้งว่า ไผ่ได้จากไปอย่างสงบท่ามกลางคนที่ไผ่รัก
“แม้จะเสียใจที่ไผ่ได้จากไป แต่อย่างน้อยในวาระสุดท้าย ผมและไผ่ได้มีโอกาสบอกรัก ได้ขอโทษกันและกัน ได้ใช้เวลาดีๆด้วยกัน”
“ที่สำคัญ ผมได้ของที่ระลึกที่ดีที่สุดจากไผ่ นั่นคือ สมุดบันทึก” ที่ได้บอกเล่าความในใจทุอย่างของไผ่ ทั้งความสุข ความฝัน ความหวัง และการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ต่อความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน และความแข็งแกร่งที่สามารถตัดสินใจเลือกทางเดินของตัวเองในช่วงสุดท้ายของชีวิตได้
“ผมจะเก็บสมุดบันทึกนี้ไว้อย่างดีที่สุด ขอขอบคุณทุกคนที่ทำให้เกิดสมุดบันทึกเล่มนี้”
ชีวิตของไผ่ ได้เป็นบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ของหน่วยโลหิตวิทยา รพ.จุุฬาลงกรณ์ ทั้งรูปแบบการทำงานเป็นทีม ซึ่งหมายถึงครอบครัว อาสามสมัคร การเปิดประเด็นคุยเรื่องการตาย การประสานงานกัน การเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึก แม้ไผ่จะจากไป แต่สิ่งที่เหลือยู่คือ ความทรงจำที่ไม่ตาย
End of life NOT End of Light
เรื่องโดย วีรมลล์ จันทรดี
จากหนังสือ การดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้าย
ไม่อนุญาตให้นำบทความนี้ไปใช้ หรือ แชร์ ในเชิงการค้าหรือหวังประโยชน์ต่างๆจากผู้ป่วยค่ะ