นี่คือบทสัมภาษณ์ที่รุ่นพี่เบลล์ถามเรื่องของความคิดและทัศนคติเบลล์ในเวลาที่เบลล์ท้อและหมดกำลังใจมากที่สุด ลองอ่านดูนะคะว่าเบลล์ผ่านจุดนั้นมาได้อย่างไร
“น้องเบลล์ พี่อยากถามว่า ตอนนั้นที่หายได้ ส่วนสำคัญคืออะไร กำลังใจหรือเปล่า”
ไม่แค่เท่านั้นค่ะ สิ่งสำคัญคือความร่วมมือกันเป็นทีมเวิร์ค เราพยายามด้วยกัน ทั้งญาติ ทั้งคนไข้ และหมอ เราพึ่งแต่หมออย่างเดียวก็ไม่ได้ เราต้องดิ้นรนเองด้วย ส่วนกำลังใจ สำหรับเบลล์ไม่เรียกว่าใช้กำลังใจนะ เบลล์ว่ามันคือ สติ กับทัศนคติ
“ที่ว่าดิ้นรนเอง คือเราไม่ยอมแพ้เองด้วยใช่ไหม”
ใช่ค่ะ ตอนนั้นหมอในประเทศไทยไม่มีทางออกให้เลย เราก็ทำเรื่องติดต่อไปต่างประเทศเอง ยาที่ได้ข้อมูลมาก็ไม่ให้ใช้เพราะ อย.ไม่อนุมัติ เราก็ไปขนมาเองเลย แบบขนยาบ้าน่ะ
“แล้วเบลล์ไปเอาพลังฮึดขนาดนั้นมาจากไหน พี่คิดว่าถ้าคนไข้ส่วนใหญ่เห็นหมอแสดงท่าทีอย่างนั้น คงจะท้อแท้ ไม่อยากทำอะไรแล้ว”
คนเราชอบคิดไปเอง จริงๆ ก็แค่เปลี่ยนทัศนคติ มุมมอง แค่นั้นเอง เปลี่ยนความคิดตามสถานการณ์

Cr photo. tinachines.com
“ทัศนคติ ความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อ มันเป็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงยากมากนะ สำหรับเบลล์ใช้ธรรมะช่วยไหม หรือแค่พยายามปรับทัศนคติตัวเองให้คิดบวกว่า ฉันต้องหายให้ได้”
เอาจริงๆ ธรรมะช่วยบ้างค่ะในเวลาที่ปลงจริงๆ แต่ถ้าอยู่ในจุดนั้น มันปลงไม่ได้หรอก ถ้าปลงก็คือรอความตายอย่างเดียว สำหรับเบลล์ คือปลงได้ แต่ไม่หยุดแค่นั้น เราต้องหาวิธีต่อว่าจะเอาอย่างไรต่อไป จะคิดบวกเพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้ บางทีการคิดบวกว่าเราจะดีขึ้น ดีขึ้น อาจกลายเป็นแย่ลงกว่าเดิมก็ได้“
“นั่นสิ บางทีมันก็เหมือนพยายามหลอกตัวเองไปวันๆ จุดที่พี่สนใจคือ ในเมื่อเราปลงกับมัน แล้วอะไรล่ะที่ทำให้เบลล์กลับมีแรงฮึดสู้ขึ้นมาอีกเรื่อยๆ”
เพราะความเฟลหนักกว่าเดิม เราไม่มีทางเลือกไง มีแค่ว่า จะไปต่อ หรือจะตาย แค่นั้น
“ในระยะที่ทรมานมากๆ ตอนนั้นเคยคิดว่าตายๆ ไปดีกว่าไหม”
เคยค่ะ ตอนที่ทะเลาะกับพ่อ เห็นครอบครัวเครียด เหนื่อย แต่ก็แค่ครั้งเดียว
“เพราะเราเป็นคนที่รู้สึกแย่เวลาเห็นคนรอบข้าง คนที่เรารัก ต้องลำบากหรือเป็นทุกข์เพราะเราด้วยหรือเปล่า”
ใช่ค่ะ
“แล้วน้องคิดยังไงตอนนั้น พอต้องเห็นสภาพคนรอบตัวเป็นแบบนั้น”
เบลล์ก็บอกว่าให้ปล่อยไปเถอะ แต่มาคิดอีกทีก็รู้สึกว่าการพูดประโยคนั้นออกไปมันเห็นแก่ตัวมากๆ เหมือนทิ้งคนอื่นให้อยู่ข้างหลัง สร้างบาดแผลขึ้นมาอีก
“แล้วไม่ยิ่งรู้สึกแย่กับตัวเองเหรอ หรือสุดท้ายเราคิดว่าเราต้องสู้เพื่อคนรอบข้าง”
ไม่ค่ะ เบลล์ต้องตัดจบ เคลียร์วันต่อวัน ไม่สู้เพราะคนรอบข้างด้วย เพราะเวลาทะเลาะกันมีเรื่องแล้วเรายิ่งเฟล ครอบครัวเบลล์ไม่โลกสวย ด่ากันตลอด ไม่มีการโอ๋ หรือให้กำลังใจทั้งนั้น
“โห นี่ถ้าเป็นคนส่วนใหญ่คงเครียดตายไปเลย แล้วเบลล์มีวิธีรับมือกับความเครียดแบบนั้นยังไง”
สติค่ะ หยุดพิจารณาว่าเราเครียดเรื่องอะไร เราแก้เองได้ไหม เราต้องทำอย่างไร
สุดท้ายถ้าไม่ใช่สาเหตุของตัวเราก็ ช่างแม่ง!

Cr Photo: Pinterest
“คือคิดพิจารณาว่า ถ้าเป็นอะไรที่แก้ที่ตัวเราได้ก็เราก็แก้ ใช่หรือเปล่า”
บางทีก็ไม่ได้นะ เช่นเรื่องเลือด กินยาแทบตาย ก็ไม่ขึ้น เลือดตกโดนพ่อด่า หมอเลื่อนแผนการรักษา เอ้า! เครียดสิ คือสาเหตุมาจากเราทั้งนั้น แต่เราควบคุมมันไม่ได้ ก็ยิ่งเครียด
“แล้วยิ่งเครียดมันไม่ยิ่งทำร้ายเราเหรอ”
ก็เรียนรู้ไว้เป็นบทเรียน แล้วเริ่มใหม่
“หมอเคยให้ยาคลายเครียดมั้ย ระหว่างที่ทำการรักษาอยู่”
ไม่มีเลยค่ะ เราต้องกลับมาที่เรื่องเดิมที่เบลล์ว่า คือที่ทัศนคติ ต้องเปลี่ยนให้เข้ากับเหตุการณ์ คาดหวังให้น้อยลง ทำให้มากขึ้น ดูพูดง่ายนะ แต่ทำยาก แต่ถ้าเราเจอจริงๆ แล้วจะเข้าใจเอง
“พี่ทึ่งว่า น้องอยู่ในสภาพกดดันตลอดเวลา ในขณะที่คนไข้ทั่วไปจะมีแต่คนคอยเอาใจเพื่อให้สบายใจ แต่น้องยังรับมือกับมันได้ เบลล์สู้กับใจและร่างกายตัวเองไปพร้อมๆ กันได้อย่างไร”
เรื่องแบบนี้มันแล้วแต่คนนะคะ คนบางคน โดนกดดันคือยิ่งแย่ แต่เบลล์โตมากับสถานการณ์แบบนี้ พ่อด่าตลอด เวลาไปทำงานก็โดนนายกดดัน สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนเป็นแรงผลักดัน ที่ทำให้เราไม่ยอมแพ้
“แสดงว่าการเป็นคนไม่ยอมแพ้นั่นเองเลยกลายเป็นแรงผลักให้เราต้องดิ้น”
เราต้องหาทางรอด ยิ่งหมอบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ เบลล์คิดทันทีว่าต้องได้ดิ แค่หมอไม่เคยเจอเท่านั้นเอง ก็ปรึกษาไปทั่วโลกเลย
“คือดื้อไว้ ว่างั้น เลยพยายามหาทางเอาชนะมัน”
ก็ไม่ใช่ดื้อนะคะ ดื้อคือพยายามไปทางตัน แต่เราอยากเป็นคนแรกที่สร้างประวัติศาสตร์ แบบ คอยดูสิเดี๋ยวทำให้ดู แต่ต้องสู้แบบมีสตินะ มีกลยุทธ์ การวางแผน (strategy) ไม่ใช่ เข็นครกขึ้นภูเขา ว่าที่เราทำอยู่มันต้องหายชัวร์
“แล้วตอนนั้นมั่นใจในความคิดตัวเองแค่ไหน”
ดูแผน strategy ของหมอค่ะ ทั้งสามฝ่ายต้องร่วมมือกัน ตกลงกันว่าเราจะดำเนินการไปตามทางนี้นะ มันไม่มีใครรู้หรอกว่าเป็นอย่างไร รู้แต่ว่าลึกๆ คือ ไม่คิดว่าตัวเองจะตาย เบลล์ไม่ได้มีแผนหลักแค่แผนเดียวนะ มีแบบ 8 แผนสำรอง เราต้องศึกษา โดยเฉพาะเรื่องสูตรยา เบลล์เป๊ะมาก จดละเอียดแบบนักศึกษาแพทย์เลย เรียนไปด้วยกันกับหมอ คือ เราต้องเป๊ะไปกับหมอด้วย ไม่ใช่หลับตาเดินตามตามที่เค้าบอกอย่างเดียว
“คือทำความเข้าใจ strategy ทั้งหมดด้วยตัวเองด้วย จะได้รู้ว่าเรากำลังทำอะไร อยู่ตรงไหน”
ใช่ค่ะ
“แล้วเวลาเราท้อ เราจัดการกับความรู้สึกตัวเองอย่างไรบ้าง อะไรที่เบลล์คิดว่า นี่แหละ คือสิ่งสร้างพลังใจให้เบลล์มากที่สุด”
การมองความจริงค่ะ ถ้าทำอะไรได้ ก็ลิสต์สิ่งที่จะต้องทำพรุ่งนี้ ถ้าทำอะไรไม่ได้ เครียดไปก็ไม่มีประโยชน์ แนวความคิดของหนังสือก็ช่วยได้

Cr Photo : 1bekar.blog.ir
“การห้ามตัวเองเครียดนี่ยากมากนะ เรามีแทคติกยังไง“
บอกตัวเองว่า ช่างแม่ง!
“อยากให้เบลล์อธิบายจุดนี้ให้ละเอียดหน่อย ทัศนคติของผู้ป่วยคือสิ่งสำคัญมากเพราะเป็นกุญแจสำคัญในการต่อสู้เลย”
เข้าใจค่ะ แต่มันก็อธิบายไม่ถูกเหมือนกัน มันจะแบบ เหนื่อย เพลีย และเบลล์ก็บอกตัวเองว่าช่างแม่ง พอตื่นขึ้นมาก็รู้สึกดีขึ้น คือเราต้องมีสติ รู้ทันตัวเอง ว่านี่เรากำลังเครียดนะ กำลังนอยนะ กำลังงี่เง่านะ การสวดมนต์ก็ช่วย แต่ไม่ใช่สวดแบบต้องการบุญกุศล เบลล์สวดมนต์เพื่อให้ตัวเองมีสติ มีสมาธิ รู้เท่าทันตัวเอง
“หลายคนรู้ตัวว่ากำลังเครียด แต่เอาตัวเองออกมาจากจุดนั้นไม่ได้ พี่เลยสนใจวิธีคิดของเบลล์ว่าสลัดความเครียดทั้งหมดไปได้ไง บางทีการบอกว่าช่างแม่งสำหรับบางคนก่อให้เกิดผลลบ ทำให้ปลง คิดไปว่าอะไรจะเกิดก็เกิด ปล่อยไปตามยถากรรม แต่สำหรับเบลล์ พี่ว่ามุมมองเบลล์ต่างออกไปจากคนส่วนมากนะ”
อ่อ คือของเบลล์ยึดหลัก จบในวัน Sieze the day แล้วก็แบบ มีสติรู้ตัวเองว่ากำลังเครียดอยู่ คือ อยู่กับ ปัจจุบันเลย ไม่ใช่แบบว่าเครียดในสิ่งที่ยังไม่เกิด หรือมัวแต่กังวลในสิ่งที่เกิดไปแล้ว แก้ไม่ได้แล้ว ให้มีความสุขกับปัจจุบันว่า เรายังกินได้ เดินได้ เล่นเฟซบุ๊กได้นี่นา และก็วางแผนต่อว่าวันนี้จะทำไรดี อาทิตย์หน้าทำอะไร โดยเป็นแผนที่ต้องจัดให้เข้ากับแผนการรักษา
“สรุปคือทำหน้าที่ของเราทุกวันให้ดีที่สุดที่เราทำได้ ทำไม่ได้ก็ปล่อยไป วันต่อมาก็เริ่มใหม่ แต่ทั้งหมดต้องเดินไปตาม roadmap ที่เราวางไว้”
ใช่ค่ะ ประมาณนั้น
“แสดงว่า ถ้าเกิดวันไหนแพลนวันนั้นมันพังขึ้นมา เราก็ช่างมันละ ไว้พรุ่งนี้เอาใหม่ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ”
ประมานนั้นค่ะ บางทีก็ให้เวลาตัวเองพักไปสองสามวัน ไม่ต้องคิดอะไร เพราะบางทีการแผนการรักษาพังมันก็ไม่ใ่ช่หน้าที่เรานะที่ต้องคิด หน้าทีเราคือดูแลร่างกายตัวเอง
“วิธีผ่อนคลายของตัวเบลล์เอง เบลล์ใช้วิธีไรบ้าง”
ก็มีนอน อ่านหนังสือ ถ้าแบบเซ็งมากๆ หวั่นใจมากๆ ก็สวดมนต์ สวดจริงจัง ไม่ก็โทรหาเพื่อน เพื่อนจะถามคำถามมาให้เราคิดได้ แล้วเราก็แบบ เออเนอะ ฉันจะงี่เง่าทำไม เราต้องคุยกับเพือนสนิทที่รู้จักเราดี และต้องมีสติกว่าเรา คุยกันห้านาทีจบ หยุดร้องไห้ในสามนาที เดี๋ยวเราก็คิดได้เอง
“ทุกครั้งที่ทำแบบนี้ เราสบายใจขึ้นไหม”
ไม่ทุกครั้งค่ะ แล้วแต่สถานการณ์
“สุดยอดมาก การคุยกับน้องเบลล์ทำให้พี่ยอมรับละ ว่าพลังฮึดสำคัญจริงๆ“
อ่อ ฮ่าๆ เพิ่งรู้ตัวเหมือนกันค่ะ
“ส่วนหนึ่งนั่นเพราะนิสัยส่วนตัวของเบลล์ด้วยที่ทำให้หายจากโรคได้ ความที่ไม่ยอมแพ้นี่แหละ“
เอาจริงๆ นิสัยก็ต้องเปลี่ยนนะ แต่ก่อน เป็นคน perfectionist ตอนนี้ต้องยอมว่ามันไมใช่อย่างนั้นเสมอไป บางครั้งเราทำดีที่สุดแล้ว ทำตามแผนแล้ว แต่สุดท้ายก็ยังติดเชื้อ
“คนส่วนใหญ่จะแย่ลงเพราะ เครียด กังวล แล้วจมดิ่งกับความรู้สึกนั้น เอาตัวเองขึ้นมาไม่ไหว แต่เบลล์ไม่ใช่”
ก็ต้องรู้ตัวเองก่อน ต้องศึกษาด้วย ว่ายาตัวไหน มีเอฟเฟกต์อะไรรู้ก่อนก็จะได้ป้องกัน
“ก็คือ เบลล์พร้อมรับมือกับเอฟเฟกต์ที่อาจเกินขึ้น และเข็มแข็งพอที่จะสู้ไปเรื่อยๆ”
เอฟเฟกต์แต่ละอันมันไม่เหมือนกันนะคะ ถ้าพูดว่าเข้มแข็ง เบลล์เรียกว่า ปรับตัวได้ดีกว่า
“นั่นคือเรื่องยากมากเลย เคล็ดลับนี้มันไม่ใช่ใช้ได้กับเฉพาะโรคนี้ แต่กับโรคอื่นๆ ก็เหมือนกัน การที่จะประคองสติให้ยอมรับแล้วพร้อมสู้เป็นกุญแจสำคัญของทุกโรค บางคนเครียด หมอก็ให้ยาคลายเครียดกับยานอนหลับมาช่วย แต่เบลล์กลับบอกว่าเบลล์ไม่ต้องพึ่งยาพวกนี้เลย”
เบลล์เคยได้ เพราะว่าเบลล์ปวดตัวมาก แล้วนอนไม่หลับ แต่ไม่เห็นจะดีขึ้นเลย ตาสว่างเหมือนเดิมเพราะยังปวด เลยขอยาแก้ปวดดีกว่า

Cr Photo :dailymail.co.uk
“สังคมปัจจุบันมีผู้ป่วยเยอะ แล้วก็มีหลายคนทนไม่ไหวพยายามฆ่าตัวตาย ทุกคนเจอปัญหาเดียวกันคือ ท้อ เครียด หมดกำลังใจ ไม่รู้จะเอาไงต่อกับชีวิต แล้วหลุดจากวังวนความคิดนี้ไม่ได้ หมอก็จ่ายยาๆ พอยาหมดฤทธิ์ก็เครียดเหมือนเดิม เลยสนใจเคสน้องเบลล์นี่แหละ ว่าเราเอาตัวเองขึ้นมาจากหลุมดำยังไง”
อ่อ เพื่อนเบลล์เป็นหลายคนนะคะ อาการแบบนี้ หนึ่งนั่งสมาธิช่วยได้ สองยาช่วยได้ในตอนแรกๆ
ถ้าไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เลย คือ ต้องพึ่งยาก่อนในช่วงแรก แล้วใช้สมาธิช่วย นั่งสมาธิให้รู้ทันความคิดตัวเอง ไม่ใช่พึ่งธรรมะ เพื่อให้ปลง แล้วก็ทุกข์วนเวียน เราต้องตัดจบเป็น
“คือเป้าหมายของการทำสมาธิของเบลล์ เพื่อให้คลายจิตกังวลได้”
เพื่อให้รู้ทันอารมณ์ตัวเอง แบบนี่เรากำลังโกรธนะ กำลังเหวี่ยงนะ เหวี่ยงทำไม
“ไม่ใช่นั่งเพราะต้องการได้บุญมาเสริม มาแก้กรรม แบบที่คนทั่วไปคิด”
เบลล์ไม่เคยคิดเรื่องนั้นเลยค่ะ แบบ เจ็บต้องยอมรับก่อนว่าเจ็บ แล้วก็มีสมาธิกับมัน แล้วก็จะจิตนิ่งเองหลุดเอง นั่นคือเป้าหมายที่แท้จริงของการทำสมาธิ
“มีอะไรอยากแนะนำคนที่เค้าท้อแท้มั้ย เอาสไตล์เรา หรือ ช่างแม่ง คำเดียว สรุปทุกอย่าง ก็ได้นะ”
1.ยอมรับความจริง ให้อภัยตัวเอง “สิ่งใดเกิดขึ้นแล้วสิ่งนั้นดีเสมอ
2. มีสติ อย่าไปกังวลอดีตที่แก้ไขไม่ได้ หรือกลัวอนาคตที่ยังมาไม่ถึง “ความทุกข์เกิดแค่เพียงครั้งเดียว แต่ความคิดเราวนเวียนเป็นพันครั้ง”
3.อยู่กับปัจจุบัน และเชื่อมั่น
การบอกว่าช่างแม่ง มันใช้ได้ได้บางสถานการณ์ ช่างแม่งคือสเต็ปแรกในการหยุดความคิดของตัวเอง แต่อย่าให้แค่หยุด ต้องมีสติ แก้ไขปัญหาต่อได้ ไม่งั้นเราก็จะวนๆ อยู่ที่เดิม
“ก็คือใจเราพร้อมเมื่อไร ก็มาทำสมาธิหาสาเหตุและทางแก้ ถูกไหม”
ใช่ค่ะ สำคัญคือ ช่วงตัดจบความคิดตัวเอง ไม่กดดันตัวเอง อย่าคิดมาก ช่างแม่งบ้างก็ได้ ไม่มีใครเกิดมาแก้ปัญหาได้ทุกอย่างหรอก อย่าคิดเยอะ หาจุดตัดจบตัวเองให้เจอ แล้วก็ พยายามอยู่กับคนปกติเยอะๆ แบบอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ดี คนที่มีพลังบวก เบลล์ไม่คุยกับคนป่วยเลยนะช่วงแย่ๆ จะคุยกับคนที่หายแล้วและกับคนที่สุขภาพจิตดี เปลี่ยนสภาพแวดล้อมเลยอะ เหมือนถ้าอยากผอมก็ต้องไปอยู่ในวิถีชีวิตคนผอม เพราะถ้าไปอยู่กับคนอ้วน ก็พาเรากิน นอน ทำกิจกรรมแบบคนอ้วน
“การทำเพจบนเฟซบุ๊กได้ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง”
ก็ไม่ซีเรียส กะว่าจะเขียนลงเฟซบุ๊กไปเรื่อยๆ อย่างน้อยก็เป็นประโยขน์กับคนอื่นๆ มันมีเทคนิคหลายอย่างในการใช้ชีวิต ไมใช่เรื่องจิตใจอย่างดียว
หมายเหตุ: จริงๆ แล้วสำหรับผู้สัมภาษณ์เอง คนป่วยไม่ว่าโรคอะไร หรือแม้แต่คนที่สุขภาพดีก็ตาม ก็สามารถมาอ่านเพจเรื่องของน้องเบลล์ได้ น้องเขียนถ่ายทอดเรื่องราวได้สนุก น่าติดตาม ที่สำคัญได้แง่คิดหลายอย่าง โดยเฉพาะคนที่เป็นทุกข์ ไม่สบายใจ ถึงวิธีที่น้องเบลล์ทำอาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกคน แต่ก็น่าจะช่วยเหลือคนอีกหลายคนได้ หวังว่าข้อคิดจากน้องเบลล์วันนี้จะมีประโยชน์กับผู้อ่านทุกๆ ท่านนะคะ
อำภาพร จิรธรรมโอภาส เรียบเรียง
(เผยแพร่ครั้งแรกในเวบไซต์ประชาไท Fri, 2016-01-22 01:53)
ติดตามเกร็ดความรู้ ประสบการณ์ ข้อคิดพิชิตมะเร็งของอดีตผู้ป่วยมะเร็งได้ที่
FB Page : เรื่องจริงกะเบลล์ Jingabell
https://www.facebook.com/cancerfreeforever/
อัพเดชก่อนใครใน FB โดย กดเลือก Show First ใต้ปุ่ม Following ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ค่ะ)